top of page
origami-banner-arrow-4.png
TLBC-4.png

ถูกต้อง ปลอดภัย ใช่เลย

one-1181083_640.png
บทเรียนที่

        การวิเคราะห์และการตีความหมายข้อมูล (Analysis and Interpretation of Data)

ข้อมูลที่ทำการเก็บรวบรวม โดยทั่วไปจะมีจำนวนมาก เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ก็จะมีการดำเนินการกับข้อมูลด้วยวิธีการต่างๆเช่น การแยกประเภท การจัดชั้น การสังเขป การหาข้อสรุปเกี่ยวกับลักษณะต่างๆของข้อมูลการพิจารณาหาว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาได้มีความสัมพันธ์กับข้อมูลอื่นหรือไม่อย่างไรตลอดจนอาจทำการพยากรณ์เหตุการณ์ในอนาคตจากข้อมูลที่เก็บ รวบรวมได้กระบวนการต่างๆเหล่านี้เรียกว่า การวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งจะดำเนินการในรายละเอียดอย่างไรและเพียงไรนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูล และเรื่องที่ต้องการศึกษา ในบางกรณี การวิเคราะห์ข้อมูลก็ทำโดยใช้กราฟ

       ดังนั้นเมื่อพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าบางขั้นตอนของการวิเคราะห์ข้อมูล เช่นการจัดชั้นหรือแยกประเภทของข้อมูล จะต้องเตรียมวางแผนพร้อมกันไปกับการเก็บรวบรวมและการนำเสนอข้อมูล เมื่อข้อมูลได้รับการวิเคราะห์แล้ว ขั้นสุดท้ายของการดำเนินการทางสถิติก็คือ การตีความหมายข้อมูลเหล่านั้น การตีความหมายก็คือ การพิจารณาหาว่าอะไรคือข้อสรุปที่ได้จากการวิเคราะห์ ตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์ช่วยสนับสนุนหรือปฏิเสธสมมุติฐานที่ตั้งไว้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆและตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์บอกอะไรบางอย่างใหม่ๆ แก่เราบ้าง

        การตีความหมายข้อมูลเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องด้วยความรู้และเอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวข้องมักมีจำกัด ดังนั้นการตีความหมายข้อมูล จึงไม่ควรสรุปลงไปอย่างแน่นอนตายตัวว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้นอกจากนั้นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าวนี้ ก็คือตัวข้อมูลเองได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า ข้อมูลประกอบด้วยข้อเท็จและข้อจริง มิใช่ข้อจริงล้วนๆ และตัวเลขที่ได้จากการวิเคราะห์ก็เป็นเพียงค่าประมาณ ดังนั้นการตีความหมายข้อมูลโดยการสรุปอย่างแน่นอนตายตัว จึงมีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายมาก อย่างไรก็ตาม การตีความหมายที่ดี ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ 4 ประการ ดังต่อไปนี้

       1. มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะค้นหาความจริงทุกอย่างที่ซ่อนเร้นอยู่ในข้อมูล

       2. มีความรู้ความเข้าใจอย่างกว้างขวางในเหตุการณ์หรือเรื่องที่กำลังศึกษา

       3. มีความคิดที่เป็นระเบียบและมีเหตุผลในการทำงาน

       4. มีความสามารถในการใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน ทำให้อ่านเข้าใจได้ง่าย

         ขั้นตอน การประเมิน วิเคราะห์ สังเคราะห์สารสนเทศการประเมินสารสนเทศเป็นขั้นตอนในการประเมินเพื่อคัดเลือกสารสนเทศที่เราได้จากการสืบค้นที่มีคุณค่า มีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ เป็นการพิจารณาคัดเลือกจากแหล่งสารสนเทศต่างๆ ทั้งจากห้องสมุด อินเทอร์เน็ต เป็นต้น สารสนเทศที่ไม่ใช้ เช่น เป็นสารสนเทศที่ไม่ตรงกับความต้องการ, เนื้อหาสารสนเทศล้าสมัย หรือ สารสนเทศนั้นไม่มีความน่าเชื่อถือในทางวิชาการ จากการประเมินสารสนเทศจะทำห้เราได้สารสนเทศที่มีคุณค่าและนำสารสนเทศไป ประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม

 

หลักการประเมินสารสนเทศ

      1.ประเมินความตรงกับความต้องการสารสนเทศพิจารณาว่าเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการสารสนเทศของเราหรือไม่ ตรงมากน้อยเพียงใด โดยเลือกเรื่องที่ตรงกับความต้องการ ตัดทิ้งเรื่องที่ไม่ตรงกับความต้องการ

วิธีการ คือ การอ่านเบื้องต้นได้แก่ การอ่านชื่อเรื่อง คำนา หน้าสารบัญ หรือเนื้อเรื่องย่อๆ เพื่อพิจารณาว่ามีความสอดคล้องกับความต้องการสารสนเทศหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่ ชื่อเรื่องของสารสนเทศก็อาจจะสามารถประเมินได้ทันทีว่า ตรงหรือไม่ตรง เนื่องจาก คำสาคัญเป็นคำเดียวกันกับความต้องการสารสนเทศและชื่อเรื่องของสารสนเทศ แต่หากชื่อเรื่องไม่บ่งชัดว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันอาจต้องพิจารณาจาก คำนำ สารบัญ และเนื้อหาโดยย่อ

      2. ประเมินความน่าเชื่อถือและความทันสมัยของสารสนเทศพิจารณาว่าเป็นสารสนเทศที่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ น่าเชื่อถือเพียงไร ซึ่งการประเมินความน่าเชื่อถือมีรายละเอียดที่ควรพิจารณา ได้แก่

          2.1 ประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งสารสนเทศโดยพิจารณาว่าสารสนเทศนั้นได้ มาจากแหล่งสารสนเทศใด โดยส่วนใหญ่ แหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือนั้นจะเป็นแหล่งสารสนเทศสถาบัน เช่น ห้องสมุด เนื่องจากสารสนเทศที่อยู่ในห้องสมุดได้ผ่านกระบวนการกลั่นกรองเนื้อหาจาก บรรณารักษ์และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนแหล่งสารสนเทศอินเทอร์เน็ต จะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าหรือไม่มีความน่าเชื่อเลย คือ การรับรู้สารสนเทศจากอินเทอร์เน็ตนั้นเราต้องใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง เนื้อหาเองว่าเนื้อหาจากเว็บไซต์ใดที่น่าเชื่อถือ

          2.2 ประเมินความน่าเชื่อถือของ ทรัพยากรสารสนเทศ โดย พิจารณาว่า ทรัพยากรสารสนเทศหรือสารสนเทศนั้นๆ เป็นรูปแบบใด สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อไม่ตีพิมพ์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสิ่งพิมพ์ประเภทใด หนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง วารสาร นิตยสาร เป็นต้น

        2.3 ประเมินความน่าเชื่อถือของ ผู้เขียน ผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ โดยพิจารณาว่า ผู้เขียนมีคุณวุฒิ ความรู้ ความสามารถและประสบการณ์ ตรงหรือสอดคล้องกับเรื่องที่เขียนหรือไม่ รวม ทั้งความน่าเชื่อถือผู้จัดทำ สำนักพิมพ์ที่มีประสบการณ์ในเนื้อหาเฉพาะด้าน มักจะมีความน่าเชื่อถือในแวดวงวิชาการนั้นๆ หน่วยงานผู้รับผิดชอบเป็นภาครัฐบาล องค์กร สมาคม มักจะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าหน่วยงานภาคเอกชนหรือบุคคล ตัวอย่าง เช่น กรณีที่เป็นบท ความวิชาการ ให้พิจารณาว่า ตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อวารสารที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชานั้นๆ มีชื่อเสียงในทางวิชาการ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายหรือไม่ ผู้เขียน/ผู้จัดทำ/สำนักพิมพ์มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ และต้องมีความต่อเนื่องในการเผยแพร่

        2.4 ประเมินความทันสมัยของสารสนเทศ โดยหากเป็นสื่อสิ่งพิมพ์พิจารณาความทันสมัย จาก วัน เดือน ปี ที่พิมพ์ หากเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พิจารณาจาก วัน เดือน ปีที่เผยแพร่ เป็นต้น

   3. ประเมินระดับเนื้อหาของสารสนเทศ ซึ่งระดับเนื้อหาสารสนเทศมี 3 ระดับ ได้แก่

       3.1 สารสนเทศปฐมภูมิ (Primary Information) มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด เนื่องจากเป็นสารสนเทศที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าโดยตรงของผู้เขียนและตีพิมพ์ เผยแพร่เป็นครั้งแรก เช่น ต้นฉบับตัวเขียน จดหมายส่วนตัว รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ สิ่งพิมพ์รัฐบาล สารสนเทศประเภทนี้ถือว่ามีความน่าเชื่อถือควรนำมาอ้างอิงมากที่สุด เพราะเป็นข้อมูลจริงที่ได้จากผู้เขียน และยังไม่ได้ผ่านการเรียบเรียงหรือปรับแต่งใหม่จากบุคคลอื่น

       3.2 สารสนเทศทุติยภูมิ (Secondary Information) เป็น การนำสารสนเทศปฐมภูมิมาเขียนใหม่ อธิบาย เรียบเรียง วิจารณ์ใหม่ให้เข้าใจง่ายเพื่อให้เหมาะกับผู้ใช้สารสนเทศ หรือเป็นเครื่องมือช่วยค้นหรือติดตามสารสนเทศปฐมภูมิ เช่น หนังสือ บทความวารสาร บทคัดย่องานวิจัย บทวิจารณ์หนังสือ เป็นต้น

      3.3 สารสนเทศตติยภูมิ (Tertiary Information) เป็นการชี้แนะแหล่งสารสนเทศ 2 ระดับ แรก ที่ไม่ได้ให้เนื้อหาสารสนเทศโดยตรงแต่เป็นการชี้แนะแหล่งสารสนเทศปฐมภูมิและ ทุติยภูมิ เช่น บรรณานุกรม ดรรชนีวารสารและวารสารสาระสังเขป

การตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลเบื้องต้น

       เพื่อเป็นการตรวจสอบความน่าเชื่อของแหล่งข้อมูลสารสนเทศที่สืบค้นมาได้ผู้สืบค้นสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลได้ ดังนี้

                1.  บอกวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์
                2.  การเสนอเนื้อหาตรงตามวัตถุประสงค์ในการสร้างหรือเผยแพร่ข้อมูลของเว็บไซต์
                3.  เนื้อหาเว็บไซต์ไม่ขัดต่อกฎหมาย ศีลธรรม และจริยธรรม
                4.  มีการระบุชื่อผู้เขียนบทความหรือผู้ให้ข้อมูลบนเว็บไซต์
                5.  มีการให้ที่อยู่ (E-mail address) ที่ผู้อ่านสามารถติดต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ได้
                6.  มีการอ้างอิงหรือระบุแหล่งที่มาของข้อมูลของเนื้อหาที่ปรากฏบนเว็บไซต์
                7.  สามารถเชื่อมโยง (Link)ไปเว็บไซต์อื่นที่อ้างถึงได้
                8.  มีการระบุวันเวลา ในการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์
                9.  มีการระบุวันเวลา ในการปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด
                10. มีช่องทางให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น
                11. มีข้อความเตือนผู้อ่านให้ใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจใช้ข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์
                12. มีการระบุว่าเป็นเว็บไซต์ส่วนตัวหรือระบุแหล่งที่ให้การสนับสนุนในการสร้างเว็บไซต์

แหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

        เมื่อเราต้องการข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในงานด้านต่างๆ  เราสามารถค้นหาข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลรอบตัวที่มีอยู่มากมาย  และควรเลือกค้นหาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้  ซึ่งมีลักษณะเป็นแหล่งที่มีการรวบรวมข้อมูลอย่างมีหลักเกณฑ์  มีเหตุผล  และมีการอ้างอิง  จึงให้ข้อมูลที่ถูกต้อง  ตรงตามความเป็นจริง  ตัวอย่างแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้  มีดังนี้

      1. เจ้าของข้อมูล   เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆสามารถให้ข้อมูลได้ถูกต้องตรงความเป็นจริงมากกว่าบุคคลอื่นที่รับฟังข้อมูลมาเล่าต่อ  ซึ่งอาจจดจำมาผิด  และอาจเสริมเติมแต่งทำให้ข้อมูลผิดเพื้ยนไปได้

      2. หน่วยงานหรือผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน  เป็นหน่วยงาน  บุคคลที่ทำงานหรือศึกษาค้นคว้าในด้านใดด้านหนึ่ง  ทำให้มีความรู้จากประสบการณ์ในการทำงานหรือการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง  ลึกซึ้ง  จึงมีข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริง

3. หน่วยงานของรัฐ  เป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลซึ่งมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและการพัฒนาประเทศ  เนื่องจากข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐจะถูกนำไปใช้ในการกำหนดนโยบาย  วางแผน  ลงมือปฏิบัติงาน  และใช้อ้างอิง  จึงเป็นข้อมูลสำคัญที่ต้องมีการรวบรวม  เก็บรักษา  หรือสร้างข้อมูลขึ้นอย่างรอบคอบและระมัดระวัง  เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องตรงความเป็นจริงเสมอ

เว็บไซต์อาจไม่น่าเชื่อถือ ถ้ามีลักษณะดังนี้

              • ไซต์ส่งมาถึงคุณผ่านข้อความอีเมลจากบุคคลที่คุณไม่รู้จัก

              • ไซต์นั้นนำเสนอเนื้อหาที่เป็นที่น่ารังเกียจ เช่น รูปภาพลามกอนาจารหรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย

              • ไซต์นั้นให้ข้อเสนอที่ดูเหมือนจะดีเกินจริง บ่งชี้ได้ว่าอาจเป็นกลอุบาย หรือการขายสินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือผิดกฎหมาย

              • คุณถูกล่อลวงให้ไปยังไซต์ตามแผนการโฆษณาแบบอ่อยเหยื่อ โดยที่ผลิตภัณฑ์หรือบริการไม่ได้เป็นไปตามที่คุณต้องการ

              • คุณถูกขอข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อตรวจสอบข้อมูลประจำตัวของคุณหรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ดูเหมือนว่าไม่จำเป็นต้องถาม

              • คุณถูกขอให้แจ้งหมายเลขบัตรเครดิตโดยไม่มีหลักฐานที่แสดงได้ว่าการทำธุรกรรมนั้นปลอดภัย

Rungniran Khatcharat

ศึกษาเพิ่มเติม
1211728541.png
bottom of page